วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนชีวิตจากเกม Angry Birds


คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกมที่โด่งดังที่สุดในโลกเกมหนึ่งของยุคนี้คือเกม Angry Birds ในแต่ละขณะมีคนทั่วโลกหลายล้านคนเล่นเกมนี้บนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แทบเล็ต ผมได้เล่นเกม Angry Birds ในขณะที่ได้เครื่องไอแพดมาใหม่ๆ หลังจากที่ผมเล่นได้ไม่นาน ก็ติดเกมนี้เข้าอย่างจัง ทั้งๆ ที่ผมไม่ใช่คนที่ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์สักเท่าไรนัก เมื่อมีเกม Angry Birds รุ่นใหม่ ก็ดาวน์โหลดมาเล่นตลอดเวลาครับ
สำหรับผู้อ่านที่ไม่เคยเล่นเกม Angry Birds มาก่อน เกม Angry Birds หรือเกมนกขี้โมโหคือเกมที่สมมติเหตุการณ์ว่า มีนกฝูงหนึ่งถูกหมูอันธพาลขโมยไข่ไป ทำให้นกโกรธแค้นมาก แต่เนื่องจากนกกลุ่มนี้บินไม่ได้ จึงใช้หนังสติ้กยิงตัวเองเพื่อไปแก้แค้นหมูฝูงนี้ครับ โดยมีนกหลายชนิด และนกแต่ละชนิดจะมีความสามารถพิเศษแตกต่างกันครับ
เกม Angry Birds เป็นเกมที่บริษัท Rovio แห่งประเทศฟินแลนด์ พัฒนาบน IOS หรือระบบปฏิบัติการของแอปเปิลก่อน จากนั้นก็พัฒนาบนสมาร์ตโฟนและระบบปฏิบัติการต่างๆ จนแพร่หลายไปทั่วโลกครับ จุดเด่นของเกม Angry Birds คือ “เล่นง่าย เลิกยาก” ครับ ดูเผินๆ แล้วเกม Angry Birds ไม่มีอะไรพิเศษเลย แค่ยิงนกให้โดนที่อยู่ของหมูเท่านั้นเอง แต่ในความธรรมดาของเกม Angry Birds กลับมีความพิเศษหลายอย่างที่ทำให้ผู้เล่นเกมทั่วโลกติดใจ จนกระทั่งเจ้านกสีแดงและหมูสีเขียวกลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคเราไปแล้ว
แต่ในวันนี้ ผมไม่ได้เสนอวิธีการเล่นเกม Angry Birds ครับ ผมจะกล่าวถึงข้อคิดบางอย่างที่ผมได้จากการเล่นเกม Angry Birds ซึ่งเป็นมุมมองของผมเองครับ เพราะผมสังเกตว่า วิธีการเล่นเกม Angry Birds มีแง่มุมหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องการใช้ชีวิตหรือการทำงานของเรา ข้อคิดที่ผมได้จากการเล่นเกม Angry Birds มีดังนี้ครับ
1. จุดเริ่มต้นมีความสำคัญมากต่อการเล่นเกม เพราะมุมยิงเริ่มต้นของนกมีผลต่อการยิงหมูอย่างมาก ในชีวิตของเราก็เช่นกัน การเริ่มต้นสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องจะทำให้เกิดผลสำเร็จได้ง่าย เช่น การเลือกเรียนสาขาที่ตรงกับความถนัดของตนเอง การเลือกสถานที่ทำงาน การเลือกคู่ครอง การเลือกบ้าน เป็นต้น กล่าวได้ว่า ถ้าเริ่มต้นดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเราที่หลายคนมองข้าม คือ ทุกวันยามเช้าหรือขณะที่เราตื่นนอนใหม่ๆ หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ศาสนา และจิตวิทยาหลายเล่มเขียนตรงกันว่า เราควรคิดสิ่งดีๆ ในยามเช้า เพราะจะทำให้อารมณ์ของเราเบิกบานตลอดทั้งวัน แต่สิ่งที่คนจำนวนมากในยุคนี้ทำคือ เปิดเฟซบุ๊คอ่านสเตตัสของเพื่อนหรือเล่นไลน์ทันทีที่ลืมตา ถ้าเราอ่านสเตตัสดีๆ ก็จะทำให้เราอารมณ์ดี แต่ถ้าอ่านสเตตัสที่หดหู่หรืออ่านข่าวที่ไม่เป็นมงคล ก็อาจมีผลต่ออารมณ์ของเราเช่นกัน เราจึงควรคัดสรรและเลือกสื่อดีๆ ในยามเช้าครับ
2. ถ้าลองยิงหลายครั้งแล้วไม่ได้ผล ก็ลองเปลี่ยนเทคนิคหรือรูปแบบการยิง อาจได้ผลดีกว่า ผมเคยติดอยู่ที่บางด่านเป็นเวลานาน เพราะใช้วิธีการยิงแบบเดิมๆ แต่พอลองเปลี่ยนวิธีการยิง เช่น เปลี่ยนตำแหน่งเป้าหมาย เปลี่ยนมุมยิง ก็ผ่านด่านนั้นได้ หลักการข้อนี้เป็นหลักการที่เราควรใช้ในการทำงานเช่นกันครับ ถ้าเราทำบางสิ่งบางอย่างแล้วไม่ได้ผล ก็ลองเปลี่ยนวิธีการบ้าง ตัวอย่างเช่น ครู อาจารย์ หรือวิทยากรควรใช้สื่อการสอนแบบใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ ไม่ควรใช้สื่อการสอนแบบเดิมทุกครั้ง บางครั้งอาจเขียนบนกระดานดำ บางครั้งใช้พาวเวอร์พอยต์ บางครั้งใช้เกม หรือบางครั้งก็ฉายภาพยนตร์ให้ดู ก็จะทำให้เกิดความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น
3. บางครั้งการยิงเบาๆ ตรงๆ ทำให้ชนะได้อย่างง่ายดาย ผมพบว่าหลายครั้งที่ตั้งท่ายิงสูงบ้าง ต่ำบ้าง ก็ไม่สามารถผ่านด่านนั้นได้ แต่เมื่อผมลองใช้วิธีง่ายๆ เช่น ยิงเบาๆ ตรงๆ กลับปรากฏว่า ผ่านด่านนั้นได้อย่างง่ายดายจนแทบไม่น่าเชื่อ ดังนั้นเวลาที่เราแก้ปัญหาใดก็ตาม อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าปัญหานั้นยากเกินไปหรือแก้ไขไม่ได้ เพราะเราได้ลองหลายวิธีแล้ว ลองหันมาใช้วิธีที่ง่ายๆ บ้าง อาจจะแก้ปัญหานั้นก็ได้ครับ
4. ถ้าเล่นมานานแล้วยังไม่ผ่านด่าน ลองหยุดเล่นสักพัก เมื่อเล่นใหม่ในครั้งหน้า อาจชนะได้อย่างง่ายดาย มีบางครั้งที่ผมเล่นบางด่านไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่ลองหลายวิธีแล้ว ก็เลยหยุดเล่นชั่วคราว จากนั้นก็มาเล่นใหม่ในวันรุ่งขึ้น ก็ปรากฏว่าเล่นผ่านได้ง่าย ผมสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะสมองเหนื่อยล้าเกินไปกับการเล่นเกม เมื่อได้หยุดพักหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้สมองสดชื่นหรือตื่นตัวมากขึ้น เมื่อกลับมาเล่นเกมใหม่อีกครั้ง ก็เกิดมุมมองใหม่ ทำให้เล่นผ่านด่านนั้นได้ครับ
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อยมากในชีวิตประจำวันครับ ตัวอย่างเช่น สมัยที่ผมเรียนปริญญาโท ต้องอ่านบทความวิชาการมากมาย บทความบางเรื่องเป็นบทความที่เข้าใจยากมาก ผมเคยอ่านบทความเรื่องหนึ่งตอนสามทุ่ม ซึ่งอ่านครั้งแรก เข้าใจเนื้อหาเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อ่านเสร็จแล้วก็เข้านอน วันรุ่งขึ้นตื่นเวลาตีห้า อ่านบทความนั้นอีกครั้ง ปรากฏว่าเข้าใจเนื้อหามากขึ้น 70-80 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
หรือแม้กระทั่งการเขียนบทความ 1001 หรือบทความอื่นๆ ของผมก็เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ผมจะเขียนบทความสองครั้งครับ ครั้งแรกเป็นการเขียน “ตามใจฉัน” โดย ยังไม่ได้ขัดเกลาสำนวนหรือเนื้อหามากนัก แต่เขียนให้ได้เนื้อหามากที่สุด จนกระทั่งคิดไม่ออกหรือเขียนไม่ไหวแล้ว ก็หยุดพัก จากนั้นวันรุ่งขึ้น ผมจะอ่านบทความที่เขียนไว้ในครั้งแรก ก็จะเห็นข้อบกพร่องหรือจุดที่ต้องปรับปรุง แล้วจึงเขียนใหม่อีกครั้ง ก็จะได้บทความที่ดีกว่าเดิมและสมบูรณ์มากขึ้นครับ หลายครั้งที่ผมได้ความคิดใหม่ๆ เพิ่มเติมในการเขียนครั้งที่สอง ดังนั้นผมเชื่อว่า การหยุดพักเป็นเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือการ เรียนครับ
5. ถ้าเล่นผ่านด่านได้โดยบังเอิญ ลองเล่นซ้ำอีกครั้งจนเชี่ยวชาญด่านนั้น มีหลายครั้งที่ผมเล่นผ่านบางด่านซึ่งเป็นด่านที่ค่อนข้างยาก แต่ผ่านได้เพราะความบังเอิญครับ ผมจะพยายามเล่นด่านนั้นซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าใจวิธีการเล่นที่ถูกต้อง เพื่อที่ว่าเมื่อผมเล่นเกม Angry Birds โดยเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ก็จะต้องทำคะแนนทั้งหมดให้ดีมากขึ้นกว่าเดิมหรือใช้เวลาสั้นกว่าเดิม
ผมคิดว่าการเล่นเกม Angry Birds ก็เหมือนกับการฝึกทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น พิมพ์สัมผัส ขับรถ ว่ายน้ำ โยคะ ซึ่งต้องฝึกฝนและทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนเชี่ยวชาญ ไม่มีทักษะใดที่ได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องฝึกฝนหรือทำซ้ำครับ
6. ในเกม Angry Birds มีนกหลายสี เช่น สีแดง สีขาว สีเหลือง สีดำ และนกแต่ละสีจะมีความสามารถพิเศษต่างกัน ดังนั้นในการเล่นเกมให้ชนะแต่ละด่าน จึงต้องใช้นกแต่ละชนิดให้ตรงความสามารถ หลักการนี้ก็เหมือนกับการ “เลือกคนให้ถูกงาน” นั่นเองครับ ถ้าเราเปรียบเทียบเกม Angry Birds เหมือนการบริหารโครงการ นกแต่ละชนิดก็เหมือนสมาชิกในทีมที่มีความสามารถแตกต่างกันและทำงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการนั่นเอง
แต่บทเรียนสำคัญที่สุดที่ผมได้จากเกม Angry Birds คือ เมื่อผมได้อ่านบทความที่เล่าความเป็นมาของเกมนี้ครับ (ผู้อ่านสามารถค้นหาบทความนี้ได้จากกูเกิลโดยค้นหา “How Rovio made Angry Birds a winner” ) บริษัท Rovio ได้ทำเกมมาแล้ว 51 เกมซึ่งประสบความสำเร็จในระดับปานกลางบ้าง ล้มเหลวบ้างก่อนที่ Angry Birds จะดังทะลุฟ้า ดังนั้นเกม Angry Birds จึงเกมที่ 52 ของบริษัทและได้พิสูจน์ว่า สุภาษิต “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยครับ ทุกครั้งที่ผู้อ่านเล่นเกม Angry Birds ขอให้นึกถึงความพยายามที่อยู่เบื้องหลังเกมนี้และลองนำข้อคิดที่ได้จากการ เล่นเกมไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองตามความเหมาะสมครับ
ธงชัย โรจน์กังสดาล
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Thongchai.R@chula.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น