วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สิ้นพระชนม์แล้ว อย่างสงบ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก




แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกา ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
24 ตุลาคม พุทธศักราช 2556
นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังสักการพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่า สำหรับกำหนดการในวันที่ 25 ต.ค.อยู่ระหว่างรอทรงพระกรุณาโปรดเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคาดว่า จะมีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเวลา 12.00 น.และอัญเชิญพระศพ ประดิษฐานยัง ตำหนักเพ็ชร ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งคาดว่าจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นอกจากนี้ จะออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งชุดไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 15 วัน ส่วนสถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการไปร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระศพ ต่อหน้าพระรูป สามารถไปได้ยัง อาคารมนุษยนาควิทยาทาน ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป
สำหรับพระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 โดยมีพระนามเดิมว่า ‘เจริญ คชวัตร’ ประสูติเมื่อวันศุกร์ วันที่ 3 ตุลาคม 2456 ณ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พระชนก-พระชนนี ชื่อ นายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร ทรงเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรชาย 3 คนของครอบครัวคชวัตร
เมื่อพระชนมายุย่าง 14 ปี ถือบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม ต่อมา ทรงย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเสน่หา อ.เมือง จ.นครปฐม 2 พรรษา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งพระองค์ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
จากนั้นในพ.ศ.2476 ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พอถึงช่วงออกพรรษา ทรงกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ รับฉายาว่า สุวฑฺฒโน อันมีความหมายว่า ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2507 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ พระชนมายุ 34 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโศภนคณาภรณ์ พระชนมายุ 39 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม พระชนมายุ 42 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชนมายุ 43 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมคุณาภรณ์ พระชนมายุ 48 พรรษา เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ พระชนมายุ 59 พรรษา ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
พ.ศ.2532 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเดิม และทรงให้ถือเป็นแบบธรรมเนียมตราในกฎมหาเถรสมาคมสืบมา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้ใฝ่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรก ที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรในประเทสเนปาลเป็นครั้งแรก โดยสถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่ง ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งนี้ พระองค์ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่าง เอนกอนันต์ ในฐานะประมุขสงฆ์สูงสุด พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ทรงเป็นผู้ปกครองอันเที่ยงธรรมมั่นคงในพระธรรมวินัยยิ่งนัก
ที่มา..http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=190109

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น