วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความรักในทางพุทธศาสนา

 
ถาม: จึงใคร่ขอกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของความรัก และในทางพุทธศาสนาให้คติหรือแนวความคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

ตอบ: พระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่าในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาชีวิต

อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง

ทีนี้ เราก็เอาหลักการสองอย่างนี้มาใช้ โดยวางวิธีการว่าทำอย่างไรจะให้เกิดผลดี ในกรณีที่มีความรักแบบที่ว่าตามธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีครอบครัวอะไรนี่ ก็กำหนดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เกิดโทษแก่ผู้อื่น แก่สังคม แต่ให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและแก่สังคมนั้น อย่างน้อยก็แก่ทั้งสองคนนั้นแหละให้เขาอยู่กันด้วยดีมีสุข อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง

สำหรับขั้นนี้เราก็มีคำแนะนำให้ว่าเขาควรจะพัฒนาจิตใจของเขาอย่างไร พร้อมทั้งหลักการในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้มีผลดีทั้งต่อระหว่างสองคน และในแง่ของแต่ละคน โดยคำนึงถึงจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะความสุขของแต่ละฝ่าย ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างด้วย รวมทั้งถ้าเขามีบุตรก็ให้เป็นประโยชน์แก่บุตรหลานของเขาต่อไปด้วย

ทีนี้ต่อไปก็คือ เหนือกว่านั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นไปให้เขาสามารถมีความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ให้มีความรู้สึกที่ประณีตดีงามชนิดที่เป็นคุณธรรมซึ่งคล้าย ๆ ว่าเข้ามาเสริมคุณค่าของความรักแบบแรกนี้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น ความรักแบบที่สอง และเมื่อความรักแบบที่สองนี้เจริญงอกงามมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความรักประเภทที่หนึ่งประณีตงดงาม จนกระทั่งแม้เมื่อเขาไม่สามารถอาศัยความรักประเภทที่หนึ่งต่อไปได้ เขาก็ยังมีความรักประเภทที่สองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดไป

เป็นอันว่า สำหรับความรักประเภทที่หนึ่งนี้ ท่านก็ยอมรับแต่จะต้องให้อยู่ในกรอบ หรือในขอบเขตที่ดีงาม แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ จึงต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป

ในทางพุทธศาสนา ท่านพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในแง่ข้อดีหรือคุณ และข้อเสียหรือโทษ คือข้อบกพร่อง แล้วก็บอกทางออก หรือทางแก้ไขให้ด้วย อันนี้เป็นหลักในการพิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้เราปฏิบัติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยสติและปัญญาอย่างรอบคอบ ที่จะแก้ปัญหาได้และเข้าถึงประโยชน์สุขที่แท้จริง
ถาม: อยากจะขอให้ท่านแยกให้เห็นชัดว่า ความรักแบบที่หนึ่งเป็นอย่างไร และความรักแบบที่สองเป็นอย่างไร

ตอบ: ก็มาดูเรื่องของความรักประเภทที่หนึ่งก่อน ความรักประเภทที่หนึ่งที่คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น ความรักระหว่างเพศ หรือ ความรักทางเพศ มี จุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง

ความรักแบบที่หนึ่งนี้ ที่แท้แล้วก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุข ได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญประการแรก

นอกจากนั้น เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้มุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว หรือจะเอาผู้อื่นมาบำเรอความสุขหรือให้ความสุขแก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้า เป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว

เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกันเข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือความหึงหวง
ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีการยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่
ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัว และต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัวผู้เดียวนี้ แสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจ

ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยว อย่างที่เรียกว่า หวงผัสสะ
ส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้องการความเอาใจใส่ ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉัน อย่าปันใจให้คนอื่น

เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้ มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหน เห็นแก่ตัว หรือความ
หึงหวง จึงอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งบางทีก็ถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภแล้วพยายามแสวงหาอะไรต่าง ๆ มุ่งแต่จะกอบโกยเอามาเพื่อตัวเองและเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก
ที่ว่ามานี้คือโทษประการต่าง ๆ ของความรักแบบที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบของมันก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตัวเอง แม้จะเป็นคู่ครองอยู่ร่วมกันก็เห็นเขาเป็นสิ่งสนองความสุข เป็นที่สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น
ถ้าหากว่าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ลองถามตัวเองซิว่าเราจะยังรักเขาไหม
ต้องถามตรง ๆ อย่างนี้ ถ้าเขาไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ไม่สามารถให้ความสุขแก่เรา ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ลองตอบดู เราจะรักเขาไหม หรือว่าเราจะกลายเป็นเบื่อหน่ายรังเกียจ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโทษหรือข้อเสียของความรักแบบที่หนึ่ง
ถาม: สำหรับความรักแบบที่หนึ่ง คิดว่าชัดเจนแล้ว อยากจะทราบถึงความรักแบบที่สองว่าเป็นอย่างไร

ตอบ: ความรักแบบที่สอง คือ ความรักที่อยากให้เขามีความสุข หรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใคร เราก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข

ลองถามตัวเองก่อน เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข
เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข

การที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้

การให้เป็นปฏิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความ สุข ดังนั้น ผู้ที่มีความรักแบบที่สองจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข ความรักแบบที่สองจึงทำให้การให้กลายเป็นความสุข
แต่ต้องพูดกันไว้ก่อนด้วยว่า การให้ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการให้แบบล่อเหยื่อหรือเอาอกเอาใจ ถ้าให้แบบนั้น พอไม่ได้เขามาก็จะเสียใจ เสียดาย และแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ใช่ปรารถนาดีแก่เขาจริง

ในขณะที่ ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะเอาความสุขจากผู้อื่น หรือต้องการความสุขจากการเอา ความรักแบบที่สอง เป็นความต้องการที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่น และเป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้
ในแบบที่หนึ่ง การได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบหลัง การให้ก็เป็นความสุข
พูดสั้น ๆ ว่า ความรักที่เป็นการเอา กับความรักที่เป็นการให้

ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขแล้ว มันก็มีความยั่งยืนมั่นคง เมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา
และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมาความรักของเราก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันชัดเจนกับความรักแบบที่หนึ่ง

ความรักแบบที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ซึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองนี่ต้องการให้เขามีความสุข พอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้เข้าพ้นจากความลำบากเดือดร้อน

ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า " ราคะ" หรือ "เสน่หา" ส่วนความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า " เมตตา" รวมทั้ง " ไมตรี"
ทีนี้ ถ้าหากว่าคนที่เรารักนั้น เขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น "กรุณา" คือ ความสงสารคิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมี เมตตา - กรุณา เป็นคู่กัน
นี่คือ ลักษณะของความรักสองแบบ รักแบบอยากให้เขามีความสุข กับรักแบบจะหาความสุขจากเขาหรือเอาเขามาทำให้เรามีความสุข เรียกเป็นคำศัพท์ว่า รักแบบเมตตา กับ รักแบบราคะ / เสน่หา

ธรรมกถาในวันมาฆบูชา พ.ศ.2544 เรื่อง ความรัก จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ที่มา http://kwamjing.freewebsites.com/chapter04.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น