วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รักแท้ - รักเทียม ดูอย่างไร


ตอน นี้ ทุกคนจะต้องมาช่วยกันฟื้นฟูหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาวันมาฆบูชานี้เป็นตัวอย่างที่เตือนจิตสำนึก ถ้าเรามองวันมาฆบูชาแล้วนึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลายที่มาประชุมกันในวันนั้น ด้วยใจมุ่งจะไปทำงานเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน วันมาฆบูชาก็เป็นวันแห่งความรักที่แท้ แต่ความรักในที่นี้หมายถึงรักประชาชนและรักประโยชน์สุขของประชาชน คืออยากจะเห็นคนทั้งหลายเป็นสุข

ความรักในความหมายที่แท้คืออยากเห็นเขาเป็นสุข เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก ก็คืออยากเห็นลูกเป็นสุข แต่ยังมีความรักอีกแบบหนึ่ง คือความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเป็นสุข อย่างนี้ไม่ใช่รักเขาจริงหรอก เป็นความรักเทียม คือราคะนั่นเอง

ความรักมี 2 ประเภท ทุกคนต้องจำไว้ให้แม่น คือ

๑. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข ความรักแบบนี้ต้องได้ต้องเอา ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ หรือต้องมีการแย่งชิงกัน คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ ยังไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ จะมีความรักประเภทนี้ก่อน แต่เมื่อความเป็นมนุษย์พัฒนาขึ้น ก็จะมีความรักที่แท้จริงในข้อต่อไปมากขึ้น คือ
๒. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุข พออยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข พอทำให้เขาเป็นสุขได้ ฉันก็เป็นสุขด้วย เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุข พอทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย จึงเป็นความรักที่พร้อมจะให้และสุขด้วยกัน

ความรักที่พึงประสงค์ คือความรักประเภทที่ ๒ ซึ่งเป็น ความรักแท้ ได้แก่ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข เวลานี้เรามีวันแห่งความรัก แต่ไม่รู้ว่าเป็นรักประเภทไหน รักจะได้เอาเพื่อตนเอง หรือรักอยากให้เขาเป็นสุข ก็ไปพิจารณาให้ดี

คู่ครองที่ดี

คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติและประพฤติตามข้อปฏิบัติดังนี้

ก. คู่สร้างคู่สม มีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้อง กลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันไดัยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิด ความเชื่อถือ หรือหลักการต่าง ๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้
๒. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรมจรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้องไปกันได้
๓. สมจาคะ มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
๔. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง
จาก หลักธรรมจากธรรมนูญชีวิต   โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 
ที่มา http://kwamjing.freewebsites.com/chapter05.htm
 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น